คุณเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าคุณเก็บข้อมูลไว้ในหัวมากเกินไปเมื่อเทรดฟอเร็กซ์ ? บางครั้ง คุณก็สับสนอย่างง่ายดายและการทำตามแผนที่วางไว้ก็กลับเป็นไปไม่ได้ แล้วจะพัฒนาวินัยในตนเองได้มากพอหรือเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกลยุทธ์และเข้าเทรดในจุดที่เหมาะสมเท่านั้นได้อย่างไร ? มีวิธีง่าย ๆ อยู่หนึ่งวิธี
ในบทความอื่น เราได้กล่าวไปแล้วว่าคุณควรใช้เวลา ค้นหาจุดเข้าเทรด ซึ่งก็ได้กล่าวถึงเช็กลิสต์ด้วยว่าอาจช่วยให้คุณมั่นใจว่าจะตั้งค่าการเทรดที่เชื่อถือได้และเปิดเทรดอย่างคุ้มค่าได้อย่างไร ดังนั้น ครั้งนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับเช็กลิสต์นั้นกัน
ฟอเร็กซ์ก็เหมือนกับธุรกิจ
หลายคนมองว่าการเทรดในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นไม่ต่างจากการพนัน แม้ว่าความจริงแล้วฟอเร็กซ์นั้นคืออาชีพหรือธุรกิจที่แท้จริง และหลายส่วนในภาคธุรกิจนี้เป็นไปตามกฎหมายทางธุรกิจ
ลองจินตนาการว่าคุณเดินเข้าไปในธนาคารเพื่อขอกู้เงินทำธุรกิจของตัวเอง แน่นอนว่าไม่มีใครให้เงินคุณเพียงเพราะคุณเอ่ยขอ คุณจะต้องแจ้งแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนล่วงหน้าหลายปี รวมทั้งรายละเอียดเงินทุนที่วางแผนมาอย่างดีและข้อมูลอื่นอีกมากมาย ซึ่งค่อนข้างเข้าใจได้ว่าหากไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและแผนการดำเนินงาน คุณก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ในอุตสาหกรรมนั้น ฟอเร็กซ์ก็เช่นกัน
หากคุณอยากอยู่ในธุรกิจนี้ คุณจะต้องเขียนทุกอย่างลงไปตั้งแต่รายละเอียดเล็ก ๆ แล้วทำตามรายการที่เก็บรวบรวมไว้ได้ แน่นอนว่า การเก็บทุกอย่างไว้ในหัวมันเป็นเรื่องยาก แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น การจดบันทึกและเก็บไว้ใกล้หูใกล้ตาคือทางที่ดีที่สุด แล้วตรวจสอบแผนของคุณในทุกขั้นตอนของการเทรด ด้วยวิธีนี้ คุณก็จะสามารถพัฒนาวินัยในตนเองซึ่งสำคัญต่อความสำเร็จในฟอเร็กซ์ได้
วิธีใช้เช็กลิสต์
เริ่มต้นด้วยคำนิยามพื้นฐาน เช็กลิสต์ก็คือแผนการที่มีการลงรายละเอียดของการกระทำหรือลิงต์ของเงื่อนไขต่าง ๆ คุณสามารถรสร้างลิสต์สำหรับทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเทรดได้:
- สิ่งสำคัญสำหรับการเปิดและปิดออเดอร์
- ลิสต์ของสิ่งที่คุณควรทำทุกเช้าก่อนเข้าสู่ตลาด
- การวางแผนกิจกรรมการเทรดสำหรับสัปดาห์หน้าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น
หากคุณใช้เช็กลิสต์เป็นแผนดำเนินการ คุณก็ควรทำให้เสร็จเรียบร้อยเป็นอย่าง ๆ ไป ตัวอย่างเช่น เช็กลิสต์สำหรับกิจวัตรในตอนเช้าของคุณ อาจเป็นดังนี้:
- ตรวจสอบข่าวสำคัญที่ออกมาในวันนี้บนปฏิทินเศรษฐกิจ
- ระบุว่าเมื่อไหร่ควรระงับการเทรด
- ทำสัญลักษณ์จุดสูงสุดและต่ำสุดบนกราฟรายวัน
- วาดเส้นแนวโน้ม
- วาดระดับแนวรับและแนวต้าน
- ดำเนินการตามหัวข้อก่อนหน้านี้บนกราฟที่มี timeframe ต่ำกว่า
- ตรวจสอบอินดิเคเตอร์ของสัญญาณที่เป็นไปได้สำหรับการพลิกกลับของราคา เป็นต้น
ชัดเจนว่า ลิสต์นี้เป็นปัจเจกของเทรดเดอร์แต่ละคน เพียงแต่คุณใช้วิธีการนี้เช่นเดียวกัน จงทำตามขั้นตอนทีละขั้นและอย่าข้ามขั้นจนกว่าจะทำขั้นตอนก่อนหน้าจนเสร็จสิ้น
หากเช็กลิสต์ของคุณมีรายการเงื่อนไขรวมอยู่ด้วย คุณอาจต้องลงมือแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย นั่นคือคุณจะต้องบรรยายปัจจัยที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการปฏิบัติของคุณแล้วบันทึกลงในลิสต์ หากมีอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่งที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ แสดงว่าสถานการณ์ตลาดหรือการตั้งค่าการเทรดยังไม่เหมาะสม ลองดูตัวอย่างเช็กลิสต์สำหรับการเปิดออเดอร์ ดังนี้:
- ในช่วงเวลาตลาดอเมริกา
- มีสัญญาณที่เหมาะสมบนกราฟ
- อินดิเคเตอร์ของฉันก็ส่งสัญญาณที่เข้ากัน
- อินดิเคเตอร์ที่สองก็ยืนยันสัญญาณก่อนหน้านี้
- สัญญาณบนกราฟได้รับการยืนยันและราคาเคลื่อนที่ไปยังทิศทางที่ฉันต้องการ
- อัตราส่วนความเสี่ยงต่อกำไรคือ 1:3
- ไม่มีการออกข่าวสำคัญอะไรในเวลาอันใกล้นี้ เป็นต้น
ลิสต์ของคุณจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการเทรดและกลยุทธ์ของคุณเอง ขนาดและเนื้อหาอาจมีความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าลิสต์ของคุณจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญก็คือการทำตามกฎพื้นฐาน นั่นคือ ไม่เข้าเทรดหากมีอย่างน้อยหนึ่งจุดในเช็กลิสต์ของคุณที่ไม่ถูกทำเครื่องหมายว่าผ่าน
วิธีสร้างเช็กลิสต์
เราคิดว่าทุกอย่างจะชัดเจนได้ด้วยลิสต์การปฏิบัติสำหรับทุกวันหรือทุกสัปดาห์ล่วงหน้า แค่สร้างลิสต์ของภารกิจที่สำคัญที่จะต้องทำให้เสร็จต่อจากภารกิจอื่น อาจเขียนด้วยลายมือหรือพิมพ์ในคอมพิวเตอร์แล้วปริ๊นท์ออกมา จากนั้นวางลิสต์ไว้ในที่ที่สะดุดตา คุณก็จะใช้มันได้ตลอดเวลา
ใช้ทฤษฎีเดียวกันนี้กับรายการเงื่อนไข เพียงเปลี่ยนกฎกลยุทธ์การเทรดของคุณเข้าไปในลิสต์ โดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้พลาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป แค่เพียงใช้วิธีนี้ เช็กลิสต์ก็จะเป็นประโยชน์มาก
ถ้าคุณไม่อยากเปลืองกระดาษและปริ๊นท์เช็กลิสต์ทุกครั้ง คุณอาจทำเป็นแผ่น ๆ แล้วใช้ปากกาที่ลบได้ ลองหาตัวเลือกที่เหมาะสมกับคุณที่สุดมาใช้ดู
สรุป
แน่นอนว่า เช็กลิสต์ไม่ได้มอบการเทรดแบบวิน-วินให้คุณและไม่ได้ทำให้กิจวัตรการเทรดของคุณเกิดผลมากกว่าที่มันควรจะเป็น จุดประสงค์ของวิธีการนี้แตกต่างออกไป เช็กลิสต์จะช่วยคุณให้ไม่ต้องจดจำทุกอย่าง คุณมั่นใจได้ว่าคุณทำตามแผนได้อย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น คุณจะไม่เปิดออเดอร์ตามอารมณ์
หลังจากผ่านไปหลายครั้ง การปฏิบัติของคุณก็จะเข้าสู่ภาวะอัตโนมัติ การทำตามเช็กลิสต์จนครบถ้วนจะกลายเป็นนิสัย แล้วท้ายที่สุด ระดับวินัยในตนเองของคุณก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งนั่นก็จะเพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จให้กับคุณได้ จากนั้นคุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้เช็กลิสต์อีกเลย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้น ตัวช่วยนี้จะทำให้ประสิทธิภาพการเทรดของคุณเพิ่มขึ้นได้